
โรงเรียนบ้านป่าสักปางไม้ได้จัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๗ โดยมีนายเมืองตื่น อินต๊ะรักษ์ ศึกษาธิการอำเภอลอง พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและราษฎร ร่วมดำเนินการ เปิดทำการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ โดยเริ่มแรกมีครู จำนวน ๑ คน นักเรียนจำนวน ๓๘ คน โดยขอใช้ศาลาวัดบ้านป่าสักเป็นอาคารเรียนชั่วคราว ตั้งชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนสรอย”
พุทธศักราช ๒๔๗๖ พระศรีคำ คำวาส พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและราษฎรในหมู่บ้านป่าสัก และบ้านปางไม้ ได้ดำเนินการย้ายโรงเรียนออกจากศาลาวัดบ้านป่าสัก ไปจัดสร้างขึ้นใหม่ ในเนื้อที่จำนวน ๔ ไร่ ๒งาน ๖๑ ตารางวา ซึ่งห่างจากวัดป่าสักประมาณ ๕๐๐ เมตร ซึ่งเป็นเนื้อที่อยู่บนเนินสูง ตัวอาคารสร้างเป็นอาคารแบบชั่วคราว และเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจาก “โรงเรียนสรอย” มาเป็น “โรงเรียนสรอย ๑”
พุทธศักราช ๒๔๙๒ เนื่องจากตัวอาคารเรียนชั่วคราวหลังเดิมได้มีการปรับปรุง ซ่อมแซมตลอดมา แต่ก็ยังทรุดโทรมมาก เพราะเปิดทำการมาเป็นเวลานาน ดังนั้น นายสุวรรณ คำยิ่ง ครูใหญ่ของโรงเรียนพร้อมด้วยคณะครูและราษฎรได้ร่วมกันปลูกสร้างอาคารหลังใหม่ ซึ่งเป็นอาคารแบบ ป.๓ และเปิดทำการ
พุทธศักราช ๒๕๑๑ ทางราชการได้อนุมัติเงินงบประมาณ จำนวน ๑๒๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นบาท) ให้สร้างอาคารเรียนแบบ ป.๑ ข. มีห้องเรียน ๖ ห้องเรียน โดยยกพื้นสูง ๑ เมตร กว้าง ๘ เมตร ยาว ๕๒ เมตร เป็นอาคารเรียนถาวรหลังใหม่ และเปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้น ป.๑ ถึง ป. ๔ ตลอดมา
พุทธศักราช ๒๕๑๗ ทางราชการได้มีคำสั่งให้โรงเรียนเปิดการทำการสอนในระดับประถมปลายขึ้น คือ ชั้นประถมศึกษา ปีที่ ๕,๖,๗ ด้วยเหตุที่มีนักเรียนเข้าเรียนในโรงเรียนแห่งนี้เป็นจำนวนมาก และเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาของ ชุมชนท้องถิ่นในอีกระดับหนึ่ง
พุทธศักราช ๒๕๒๐ ได้รับอนุมัติเงินงบประมาณ จำนวน ๓๒๐,๐๐๐ บาท (สามแสนสองหมื่นบาท) จัดสร้างอาคารเรียนแบบ ป.๐๐๒ โดยมีขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๓๒ เมตร สูง ๓.๕ เมตร จำนวน ๔ ห้องเรียน เพื่อใช้เปิดทำการสอนให้เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนและห้องเรียน ระดับประถมปลาย
พุทธศักราช ๒๕๒๑ ได้รับอนุมัติเงินงบประมาณให้สร้างโรงฝึกงาน จำนวน ๑ หลัง เพื่อใช้ในการจัดทำกิจการและการจัดการศึกษาของโรงเรียนต่อไป
พุทธศักราช ๒๕๒๓ ได้รับอนุมัติเงินงบประมาณ จำนวน ๑๖๕,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนหกหมื่นบาทถ้วน) ทำการต่อเติมอาคารเรียนชั้นล่างอาคารแบบ ป.๐๐๒ จำนวน ๔ ห้องเรียน เพื่อให้มีห้องเรียนพอเพียงกับจำนวนของนักเรียนที่เพิ่มขึ้น
พุทธศักราช ๒๕๒๔ ได้รับอนุมัติเงินงบประมาณ ให้ดำเนินการสร้างถังเก็บน้ำฝนแบบ ฝ.๓๓ จำนวน ๖ ถัง โดยได้ทำการจัดสร้างบริเวณด้านหน้าอาคารเรียนหลังที่ ๑ อาคารแบบ ป.๑ ข. เพื่อเก็บกักน้ำฝนใช้ในโรงเรียน
พุทธศักราช ๒๕๓๒ ได้รับเงินบริจาคจากคณะครู ประชาชนและบุคคลทั่วไป จัดสร้างรั้วคอนกรีตรอบโรงเรียน และสร้างถนนคอนกรีตภายในโรงเรียน
พุทธศักราช ๒๕๓๕ ได้รับอนุมัติเงินงบประมาณ จำนวน ๕๖๐,๐๐๐ บาท ( ห้าแสนหกหมื่นบาท ) จัดสร้างอาคารเรียนแบบ สปช. ๑๐๒/๒๖ จำนวน ๑ หลัง จำนวน ๓ ห้องเรียน
พุทธศักราช ๒๕๓๖ ทางโรงเรียน โดยนายวิรัตน์ แผ่นทอง อาจารย์ใหญ่ ในขณะนั้นได้ดำเนินการขอเปลี่ยนชื่อโรงเรียน จากโรงเรียนบ้านป่าสัก เป็นชื่อ “โรงเรียนบ้านป่าสักปางไม้” ด้วยเหตุที่โรงเรียนมีเขตบริการอยู่ในสองหมู่บ้าน คือ บ้านป่าสัก และบ้านปางไม้ เพื่อให้เกิดความรู้สึกและเจตคติที่ดีต่อโรงเรียนของประชาชนสองหมู่บ้าน โดยได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๖ เป็นต้นมา
วันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐ ผู้บริหารโรงเรียนคือ นายวิรัตน์ แผ่นทอง ได้ครบวาระเกษียณอายุราชการ ทางสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ จึงได้ดำเนินการให้ทางสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดแพร่ ดำเนินการจัดสอบคัดเลือกผู้บริหารโรงเรียนขึ้น และได้ดำเนินการมีคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งให้ นางสาวโฉมฉาย พรมปัญญา เข้ารับหน้าที่ รักษาการในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๑ โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่ วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๑ เป็นต้นมา
พุทธศักราช ๒๕๔๐ โรงเรียนบ้านป่าสักปางไม้ เข้าโครงการโรงเรียนปฏิรูปการศึกษาและได้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้รับความร่วมมือจากคณะครู บุคลากร นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และองค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นอย่างดี ในการดำเนินการปรับปรุง แก้ไข และสร้างสรรค์พัฒนาการจัดการศึกษาด้วยดีตลอดมา
ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๑ โรงเรียนบ้านโป่งตื๊ด ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ในเขตตำบลป่าสัก ได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนเรียนรวม โดยมาเรียนรวมกับโรงเรียนบ้านป่าสักปางไม้ ซึ่งในขณะนั้น มีจำนวน ๔ ชั้นเรียน นักเรียนจำนวน ๔๑ คน ครูจำนวน ๒ คน และได้ดำเนินการเลิกล้มโรงเรียนแล้วกลับมารวมกับโรงเรียนบ้านป่าสักปางไม้
ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๕ เป็นต้นมา ดังนั้นโรงเรียนบ้านป่าสักปางไม้จึงเป็นโรงเรียนที่มีเขตบริการ ถึง ๕ หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านปางไม้หมู่ที่ ๒ และ ๙ หมู่บ้านป่าสักหมู่ที่ ๓ และหมู่ ๘ และหมู่บ้านโป่งตื้ด หมู่ที่ ๕ เปิดทำการสอนตั้งแต่ ระดับปฐมวัยจนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖
พุทธศักราช ๒๕๔๒ ผู้บริหารโรงเรียนคือ นางสาวโฉมฉาย พรมปัญญา ได้ดำเนินการขอประเมินเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนและได้ผ่านการประเมินจากสำนักงานข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓ เป็นต้นมา
พุทธศักราช ๒๕๔๒ โรงเรียนได้รับเงินงบประมาณจัดสร้างลานกีฬาอเนกประสงค์จากสำนักงานการกีฬาของจังหวัดแพร่ ในวงเงินงบประมาณ เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดกิจการส่งเสริมกิจการกีฬาของโรงเรียนและของชุมชนโดยได้ตั้งศูนย์กีฬาตำบลป่าสักขึ้น มีครูพลศึกษาและคณะครูรับผิดชอบในการดำเนินการ และได้ดำเนินการจัดสร้างประตูทางเข้าโรงเรียนด้านข้างและถนนภายในบริเวณโรงเรียน โดยได้รับงบสนับสนุนจากชุมชน ผู้ปกครอง
พุทธศักราช ๒๕๔๓ ได้จัดสร้างและปรับปรุงสวนหย่อมภูมิทัศน์ ต่อเติมอาคารโรงฝึกงาน โดยได้รับงบสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ จำนวน ๒๕,๐๐๐ บาท (สองหมื่นห้าพันบาท) ในการดำเนินการต่อเติมอาคารโรงฝึกงาน
พุทธศักราช ๒๕๔๔ ได้ดำเนินการต่อเติมหลังคาชั้นล่างอาคารเรียนแบบ ป.๐๐๒ เพื่อพัฒนาห้องเรียนอนุบาลและจัดบริเวณห้องสมุดของโรงเรียนให้สะดวกต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยได้รับการสนับสนุนเงินงบจากผู้ปกครองนักเรียนอนุบาลและชุมชนและนายมานิตย์ คำยิ่ง และครอบครัว ได้บริจาคเงินสร้างศาลาบริเวณหน้าโรงเรียนมูลค่า ๓๐,๐๐๐บาท (สามหมื่นบาท)
พุทธศักราช ๒๕๔๕-๒๕๔๖ โรงเรียนได้ดำเนินการจัดสร้างเวทีบริเวณหน้าเสาธง โดยได้รับความร่วมมือจากชุมชนในการจัดหาเงินงบโดยการจัดกิจกรรมวันแม่แห่งชาติ ทั้งสองปีการศึกษา โดยมีมูลค่า ประมาณ ๔๐,๐๐๐ บาท (สี่หมื่นบาท) พร้อมทั้งได้ทำการติดตั้งระบบประปาในโรงเรียน เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคในโรงเรียนอย่างเพียงพอ
พุทธศักราช ๒๕๔๖ โรงเรียนได้รับคัดเลือกและได้ผ่านการประเมินให้รับรางวัลโรงเรียนคุณภาพ๕ ดาว ของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ
พุทธศักราช ๒๕๔๗ โรงเรียนได้ดำเนินการจัดสร้างประตูเหล็กดัดและซ่อมแซมถนนด้านหน้าโรงเรียนโดยได้รับความร่วมมือจากชุมชนในการจัดหางบในวันแม่แห่งชาติ ประจำปี ๒๕๔๗ มูลค่า ๑๐,๐๑๓ บาท (หนึ่งหมื่นสิบสามบาท) และผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้น ป.๑-๖ ได้รับบริจาคเงินเพื่อปรับปรุงระบบไฟในห้องเรียน ติดพัดลมเพดานและอุปกรณ์อื่น ๆ
พุทธศักราช ๒๕๔๘ โรงเรียนได้ดำเนินการร่วมกับชุมชนและชมรมศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านป่าสักปางไม้จัดกิจกรรมผ้าป่าศิษย์เก่าครั้งที่๑ ขึ้น ในวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๔๘ ได้เงินจำนวน ๑๐๙,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนเก้าพันบาท)เพื่อจัดซื้อและติดตั้งระบบการเรียนทางไกลผ่านสัญญาณดาวเทียมให้กับห้องเรียนทุกห้อง ตั้งแต่ระดับอนุบาล ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ และจัดสร้างห้องพลศึกษา ปรับปรุงภูมิทัศน์และบริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนได้เรียนรู้ต่อไป
ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๖-๒๕๔๘ โรงเรียนได้ดำเนินการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาตามพระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ และตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับปฐมวัย และระดับช่วงชั้นที่ ๑ ถึง ๒ โดยได้รับความร่วมมือจากบุคลากรและชุมชนด้วยดี ซึ่งโรงเรียนมีหลักสูตร ประกอบด้วย
๑) หลักสูตรแกนกลาง ๘ สาระการเรียนรู้
๒) หลักสูตรกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
๓) หลักสูตรเพิ่มเติม ได้แก่ หลักสูตรท้องถิ่น “แผ่นดินถิ่นรัก เวียงด้งนคร” และหลักสูตรพัฒนา การอ่าน เขียน การคิด วิเคราะห์ในรูปของกิจกรรมข่าว และพัฒนาหลักสูตรกิจกรรมผู้เรียนให้ หลากหลาย ได้แก่ (๑) กิจกรรมแนะแนว (๒) กิจกรรมธรรมะส่งเสริมปัญญา (๓) กิจกรรมรักษ์ภาษาไทย (๔) กิจกรรมพัฒนาจริยธรรมและประชาธิปไตย (๕) กิจกรรมลูกเสือ-ยุวกาชาด (๖) กิจกรรมชมรมสนใจ ๕ ชมรม เพื่อเป็นการสนองต่อเป้าหมายของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่มุ่งเน้นให้ ผู้เรียนมีคุณภาพ และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์คือ เป็นคนเก่ง เป็นคนดี เป็นคนมีความสุข และเห็นคุณค่าของความเป็นไทยและท้องถิ่นของตนเองต่อไป
พุทธศักราช ๒๕๔๙ โรงเรียนได้ดำเนินการร่วมกับชุมชนและชมรมศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านป่าสักปางไม้จัดกิจกรรมผ้าป่าศิษย์เก่าครั้งที่ ๒ ขึ้น ในวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๔๙ โดยได้นำเงินมาสร้างถนนภายในโรงเรียน เพื่อความสะดวกและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้โรงเรียนมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม
พุทธศักราช ๒๕๕๐โรงเรียนได้ดำเนินการปรับปรุงห้องอนุบาล ๑ โดยติดฝ้าเพดานห้อง โดยใช้งบสนับสนุนจากผู้ปกครองนักเรียนชั้นอนุบาล ๑ และซ่อมแซมเรือนเพาะชำ โดยใช้งบอุดหนุนรายหัวนักเรียน และในวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๑ทางสมาคมครูวังชิ้นได้เข้ามาประเมินโรงเรียนขนาดกลางดีเด่นของสมาคมครูอำเภอวังชิ้นในฐานะตัวแทนของกลุ่มเครือข่ายเวียงด้งนคร ผลการประเมินโรงเรียนได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นโรงเรียนขนาดกลางดีเด่นของสมาคมครูอำเภอวังชิ้น
พุทธศักราช ๒๕๕๑ โรงเรียนได้ดำเนินการติดตั้งปั้มบาดาลชุดใหม่ โดยมีค่าติดตั้งจำนวน ๒๑,๑๗๐ บาท ซึ่งทำให้โรงเรียนสามารถใช้สูบน้ำประปาใช้ในโรงเรียนได้ตามปกติ ไม่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำอีกต่อไป และในช่วงเดือนเมษายน ทางโรงเรียนได้จัดทำหลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนนำร่องโดยใช้หลักสูตรขั้นพื้นฐาน ปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ โดยมีศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแพร่ เขต ๒มาให้คำแนะนำ ปรึกษาเป็นอย่างดี
พุทธศักราช ๒๕๕๒ โรงเรียนได้ดำเนินการซ่อมแซม บ้านพักครูและโรงอาหารและทางสโมสรโรตารี่แพร่ ได้นำเครื่องกรองน้ำมาติดตั้งให้กับโรงเรียน จำนวน ๑ ชุด โดยทางโรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเองด้วยงบประมาณจากเงินอุดหนุนรายหัวผู้เรียน
พุทธศักราช ๒๕๕๓โรงเรียนได้ดำเนินการซ่อมแซมพื้นห้องน้ำอนุบาล ๑และ ๒และพื้นหน้าห้องพร้อมทั้งทาสีบริเวณผนังหน้าห้องเรียน ทำให้บริเวณห้องห้องอนุบาลสะอาด มีบรรยากาศที่ดีและสวยงามในวันที่ ๓๑ธันวาคม ๒๕๕๓โรงเรียนมีกิจกรรมผ้าป่าสามัคคีของ ศิษย์เก่าและชมรมช็อปเปอร์ชลบุรี มาถวายผ้าป่า และมอบทุนให้แก่นักเรียน จำนวน ๑๕,๕๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นห้าพันห้าร้อยบาทถ้วน) บ้านพักครู และโรงอาหาร และ ทางสโมสรโรตารี่แพร่ ได้นำเครื่องกรองน้ำมาติดตั้งให้กับโรงเรียน จำนวน ๑ชุด โดยทางโรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเองด้วยงบประมาณจากเงินอุดหนุนรายหัวผู้เรียน
พุทธศักราช ๒๕๔๙ –๒๕๕๔ โรงเรียนได้ดำเนินการร่วมกับชุมชนและองค์กรท้องถิ่นในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น “แผ่นดินถิ่นรักษ์…เวียงด้งนคร” เพื่อใช้เป็นหลักสูตรในการพัฒนาความเป็นอัตลักษณ์ของสถานศึกษาและการดำรงไว้ซึ่งรากเหง้าของชุมชนท้องถิ่นรวมถึงการขยายไปยังชุมชนท้องถิ่นและสถานศึกษาอื่นๆต่อไป